สธ.สงขลา แนะยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” ป้องกันโรคติดต่อระบบทางเดินอาหาร

       นายแพทย์สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา ได้กล่าวว่า ขณะนี้เข้าสู่ฤดูร้อน อากาศที่ร้อนและแห้งแล้งเหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อโรคหลายชนิด โดยเฉพาะเชื้อโรคที่ปนเปื้อนในน้ำและอาหาร ส่งผลให้อาหารบูดเสียได้ง่าย โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำที่ต้องระวังป้องกันได้แก่ 1)โรคอุจจาระร่วง มีอาการถ่ายอุจจาระเหลว 3 ครั้งขึ้นไปใน 1 วัน ถ่ายเป็นน้ำจำนวนมาก หรือถ่ายอุจจาระมีมูกปนเลือด หรืออาจมีไข้ หรืออาเจียนร่วมด้วย 2) โรคอาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค สารเคมี หรือโลหะหนัก ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดมวนท้องรุนแรง อาจมีถ่ายเหลว อาการมักเกิดขึ้นแบบเฉียบพลันหลังรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อน 3) โรคอหิวาตกโรค เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนหรือพิษของเชื้อปะปนอยู่ เช่น อาหารที่มีแมลงวันตอม อาหารทะเล อาหารสุกๆ ดิบๆ ทำให้ผู้ป่วยถ่ายอุจจาระเป็นน้ำอย่างมาก สีขาวขุ่นเหมือนน้ำซาวข้าวและมีกลิ่นเหม็นคาว ไม่ปวดท้อง อาจมีคลื่นไส้ อาเจียนทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่อย่างรวดเร็วนำไปสู่ภาวะขาดน้ำและช็อก หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

        ทั้งนี้ การป้องกันโรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ ให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด ” ได้แก่ สุก : รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ไม่รับประทานอาหารดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ ข้าวกล่องและอาหารที่เตรียมสำหรับคนหมู่มาก เช่น อาหารกลางวันสำหรับนักเรียน อาหารกลางวันสำหรับงานประชุมต่าง ๆ ผู้ปรุงอาหารไม่ควรตักราดข้าว แต่ควรแยกกับข้าวบรรจุใส่ถุงต่างหาก อาหารบุพเฟ่ต์ งานเลี้ยงประชุม ไม่ควรเตรียมไว้ข้ามมื้อ ร้อน : อาหารที่ปรุงไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง ต้องนำมาอุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนรับประทานทุกครั้ง หากอาหารมีรูป รส กลิ่น สี เปลี่ยนไป ไม่ควรนำมารับประทานต่อ สะอาด : บริโภคอาหาร น้ำดื่ม น้ำแข็งที่สะอาด มีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานการผลิตล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดทุกครั้ง ก่อนสัมผัสหรือรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ หรือสัมผัสสิ่งสกปรก

      สำหรับ การดูแลผู้ป่วยโรคทางเดินอาหารเบื้องต้น ให้ดื่มสารละลายเกลือแร่ ผสมน้ำสะอาดตามสัดส่วนที่ระบุข้างซอง จิบแทนน้ำบ่อย ๆ ห้ามดื่มน้ำเกลือแร่สำหรับผู้ที่ออกกำลังกาย เนื่องจากมีปริมาณน้ำตาลและเกลือแร่บางชนิดสูง ทำให้ร่างกายดึงน้ำเข้ามาในทางเดินอาหารส่งผลให้ลำไส้บีบตัวมากขึ้น กระตุ้นการถ่ายเหลวมากขึ้น ไม่ควรกินยาหยุดถ่าย เพราะจะทำให้เชื้อโรคตกค้างอยู่ในร่างกาย หากอาการยังไม่ดีขึ้น ควรรีบไปสถานพยาบาลใกล้บ้าน หากเจ็บป่วยฉุกเฉินโทรสายด่วนนเรนทรสงขลา 1669 บริการ 24 ชั่วโมง หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

                                                                                                                          ***ฝ่ายปฐมภูมิ สุขภาพภาคประชาชนและสื่อสารองค์กร/สสจ.สงขลา***


ลำดับ ชื่อไฟล์ ขนาดไฟล์ ดาวน์โหลด
แชร์
ข่าวประชาสัมพันธ์
หน้า 1 / 376