สธ.สงขลา เชิญชวนรณรงค์ “ยุติวัณโรค เราทำได้” เนื่องในวันวัณโรคโลก 2566

      นายแพทย์สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา ได้กล่าวว่า สหพันธ์องค์กรต่อต้าน วัณโรคและโรคปอดนานาชาติ (IUATLD: International Union Against Tuberculosis and Lung Disease) ได้เสนอให้กำหนดวันที่ 24 มีนาคมของทุกปีเป็นวันวัณโรคสากล (World TB Day) เพื่อย้ำเตือนให้ประชากรทั่วโลกตระหนักว่าวัณโรคยังคงระบาดและเป็นปัญหาทั่วโลก จากข้อมูลองค์การอนามัยโลกได้คาดการณ์ปัญหาวัณโรคของประเทศไทย น่าจะมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ทุกประเภท ปีละ 101,000 ราย (อุบัติการณ์ 143 ต่อแสนประชากร) พบผู้ป่วยวัณโรคที่มีการติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย 15,000 ราย เสียชีวิตปีละ 7,400 ราย และคาดประมาณปัญหา วัณโรคดื้อยาหลายขนานปีละ 1,100 ราย วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียสามารถติดต่อได้ด้วยระบบทางเดินหายใจและติดต่อจากคนสู่คน พบได้ทั่วไปแต่จะพบมากที่สุดในกลุ่มเสี่ยงที่อยู่บ้านเดียวกับผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปีที่สูบบุหรี่ หรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังร่วมกับโรคเบาหวาน ผู้ป่วยเบาหวาน โรคไตเรื้อรังที่รับยากดภูมิคุ้มกัน โรคปอดฝุ่นหิน ประชากรกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส เช่น ชุมชนแออัด นักโทษในเรือนจำ สถานสงเคราะห์ บ้านพักคนพิการ คนไร้ที่พึ่ง ผู้ใช้สารเสพติด แรงงานต่างด้าว และบุคลากรสาธารณสุข สำหรับผู้ที่รับเชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกาย จะไม่แสดงอาการป่วยในทันทีแต่จะแสดงอาการเมื่อร่างกายอ่อนแอ ซึ่งเชื้อวัณโรคสามารถเกิดได้กับทุกส่วนของร่างกาย แต่ส่วนใหญ่ร้อยละ 80 พบที่ปอดนอกจากนี้ยังพบได้ที่อวัยวะอื่น ๆ เช่น ต่อมน้ำเหลือง กระดูก เยื่อหุ้มสมอง เป็นต้น สำหรับเชื้อวัณโรคสามารถแพร่กระจายโดยผู้ป่วยจะมีอาการไอ จาม ทำให้ละอองเสมหะฟุ้งกระจายล่องลอยอยู่ในอากาศ จะมีอาการไอเรื้อรังโดยเฉพาะตอนเย็นและค่ำ มีเหงื่อออกในตอนกลางคืนถึงแม้อากาศเย็น มีอาการไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ ช่วงแรกจะไอแห้ง ๆ ต่อมา มีเสมหะออกมา บางครั้งมีเลือดปนเสมหะออกมาด้วย การรักษาวัณโรคสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการกินยาอย่างน้อย 6 – 8 เดือน และสิ่งที่สำคัญคือการกินยาตามแพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดการรักษาหรือหยุดยาก่อนกำหนด ตลอดจนถึงการให้กำลังใจและไม่ทอดทิ้งผู้ป่วย จะทำให้ผู้ป่วยสามารถเอาชนะวัณโรคได้ ผู้ป่วยควรงดเหล้า บุหรี่ และปิดปาก จมูก เวลาไอ จาม บ้วนเสมหะลงในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิดและทำลายโดยการเผา เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค

        สำหรับ สถานการณ์วัณโรคประเทศไทยปี 2565 มีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ 103,000 รายต่อปี และมีการเสียชีวิตจากวัณโรคกว่า 12,000 รายต่อปี จังหวัดสงขลา ปี 2566 พบผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ขึ้นทะเบียนรายใหม่และกลับเป็นซ้ำทุกประเภทจำนวน 688 ราย คิดเป็นร้อยละ 34.5 อำเภอที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือ หาดใหญ่ เมืองสงขลา สะเดาตามลำดับ (ข้อมูล ณ 13 มีนาคม 2566)

        นายแพทย์สงกรานต์ ไหมชุม กล่าวเพิ่มเติม สำหรับวันวัณโรคสากลปี 2566 กระทรวงสาธารณสุขกำหนดรณรงค์ภายใต้แนวคิด “ยุติวัณโรค เราทำได้” ( YES WE CAN END TB) โดยกำหนดรณรงค์วันที่ 24 มีนาคม 2566 โดยสถานบริการทุกแห่งจัดกิจกรรมตรวจคัดกรองวัณโรคในประชากรกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส การให้ความรู้และให้คำปรึกษา เพื่อเร่งรัดค้นหาผู้ที่มีอาการ และรักษาให้หายขาด ลดการรังเกียจตีตรา และเลือกปฏิบัติ ผู้ป่วยสามารถกินยาและรักษาต่อเนื่องจนครบและหายขาดจากวัณโรค เพื่อยุติปัญหาวัณโรคให้เป็นไปตามเป้าหมายการยุติ วัณโรคของแผนปฏิบัติการระดับชาติ อันจะนำไปสู่เป้าหมาย “เมืองไทยปลอดวัณโรค เพื่อโลกปลอดวัณโรค” (TB-Free Thailand For TB-Free World) ส่วนประชาชนทั่วไปป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นวัณโรค ดังนี้ รักษาสุขภาพให้แข็งแรงโดยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค  ควรตรวจร่างกายโดยการเอกซเรย์ปอดอย่างน้อยปีละครั้ง หากมีผู้ป่วยวัณโรคในบ้านต้องให้รับประทานยาให้ครบถ้วนสม่ำเสมอทุกวัน พร้อมให้สมาชิกในครอบครัวไปตรวจคัดกรองการติดเชื้อเพื่อรับประทานยาป้องกัน จึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมกิจกรรม หรือขอรับคำปรึกษาฟรีได้ที่สถานบริการสาธารณสุข/โรงพยาบาลของรัฐ ทุกแห่ง สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านหรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

                                                                                                                           ***ฝ่ายสุขศึกษาและสื่อสารองค์กร/สสจ.สงขลา***

ลำดับ ชื่อไฟล์ ขนาดไฟล์ ดาวน์โหลด
แชร์
ข่าวประชาสัมพันธ์
หน้า 1 / 352